ตอนที่ 1 ทำความรู้จักกับ Scratch

        การเขียนโปรแกรมหลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยาก เลยไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่เดี๋ยวนี้เราจะเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยีเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ทักษะการเรียนรู้นี้จึงถือว่ามีความสำคัญ ผู้เขียนเลยอยากจะเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษา ทำความเข้าใจ และเรียนรู้หลักการเขียนโปรแกรมได้แบบง่ายๆ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นในการเรียนรู้การเขียนโปรแกรม
        ทำไมเราควรหัดเขียนโปรแกรม เมื่อเราเกิดมา เราเรียนรู้การฟัง และ การพูด เพื่อใช้สื่อสาร เมื่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน เรียนหนังสือ เราเรียนรู้การอ่าน และ การเขียน เมื่อเราก้าวเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต เราเอาแต่ใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ น้อยคนนักที่จะเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้เอง

สิ่งที่พึงรู้ "อย่ากลัวที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เพราะโลกเรามันไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดเวลา ขอแค่เราสนุกกับมันแค่นี้ก็พอ"

        โปรแกรมที่ผู้เขียนจะแนะนำให้รู้จักวันนี้ก็คือ Scratch เป็นการเขียนโปรแกรมในลักษณะบล็อกโปรแกรมมิ่งที่ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานได้อย่างง่าย เช่น นิทานที่สามารถโต้ตอบกับผู้อ่านได้ ภาพเคลื่อนไหว เกม ดนตรี และศิลปะ และเมื่อสร้างเป็นชิ้นงานเสร็จ แล้ว สามารถนำชิ้นงานที่สร้างสรรค์นี้ แสดง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้อื่นบนเว็บไซต์ได้ ทำให้ ผู้เรียนได้เรียนรู้หลักการทางคณิตศาสตร์ และแนวคิดการเขียนโปรแกรมไปพร้อมๆ กับการคิดอย่างสร้างสรรค์ มี เหตุผล และเป็นระบบ 

เราพูดถึงการเขียนโปรแกรมแบบบล็อก แล้วมัน แตกต่าง กับการเขียนโปรแกรมแบบอื่นๆ ยังไงล่ะ


        ที่จริงการเขียนโปรแกรมทั้งสองรูปแบบเหมือนกันเลย แบบพิมพ์ 1 บรรทัดก็คือ 1 คำสั่ง ส่วนรูปแบบบล็อก 1 บล็อกก็คือ 1 คำสั่ง การทำงานของโปรแกรมทั้งสองรูปแบบทำงานเป็นลำดับทีละชุดคำสั่งจากบนลงล่าง
        Scratch เป็นโปรแกรมที่ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ เราสามารถเข้าใช้งานโปรแกรมโดยการเปิดเว็บบราวเซอร์แล้วเข้าไปที่เว็บไซต์ scratch.mit.edu ซึ่งการใช้งานนั้นมี 2 รูปแบบคือ
  1. แบบลงทะเบียนก่อนการใช้งาน เรามีพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ไฟล์งานและโปรเจคต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น สามารถแชร์ให้คนอื่นดูได้
  2. แบบไม่ลงทะเบียน เราไม่มีพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล ไฟล์งานและโปรเจคต่างๆ ที่เราสร้างขึ้น ไม่สามารถแชร์ให้คนอื่นดูได้
        ในส่วนนี้ผู้เขียนแนะนำให้ใช้งานแบบลงทะเบียนนะครับ เพราะเราเสียเวลากรอกข้อมูลเพียงเล็กน้อยแต่ก็ยังรู้สึกว่าคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป
        สำหรับวิธีการลงทะเบียนใช้งานโปรแกรม Scratch นั้นก็ง่ายมีเพียงแค่ไม่กี่ขั้นตอนดังนี้ครับ โดยให้เราเข้าไปที่เว็บไซต์ scratch.mit.edu


        พอเข้ามาแล้ว ที่หน้าหลักของเว็บไซต์ ให้เราคลิกที่ Join Scratch  ตรงมุมขวาของหน้าจอดังรูปด้านบน โปรแกรมจะลิงค์ไปที่หน้าลงทะเบียน โดยจะมีกล่องข้อความให้เรากรอกข้อมูลดังแสดงในรูปด้านล่าง


จากรูปด้านบน
  • ช่องแรกให้เรากรอกชื่อผู้ใช้งาน
  • ช่องที่สองให้เรากรอกรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งาน
  • ช่องที่สามเป็นการยืนยันรหัสผ่าน กรอกข้อมูลเหมือนกับช่องที่สองเลยนะครับ
หมายเหตุ ในการกรอกชื่อผู้ใช้งาน(Username) และรหัสสำหรับเข้าใช้งาน(Password) ให้ใช้ตัวอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก และตัวเลขผสมกัน

        หลังจากที่กรอกข้อมูลส่วนแรกเสร็จแล้วให้กดปุ่ม Next จากนั้นโปรแกรมก็จะลิงค์ไปอีกหน้าเพื่อให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติมดังแสดงในรูปด้านล่าง


        จากรูปด้านบนให้เราเลือกข้อมูล วัน/เดือน/ปี เกิด, เพศ และประเทศที่เราอาศัยอยู่ให้ครบ เมื่อเรากรอกข้อมูลทุกส่วนครบแล้วให้กดปุ่ม Next จากนั้นโปรแกรมก็จะลิงค์ไปอีกหน้าเพื่อให้กรอกข้อมูลเพิ่มเติมดังแสดงในรูปด้านล่าง


        จากรูปด้านบนให้เราทำการกรอกข้อมูลอีเมล์ของเราให้เหมือนกันทั้ง 2 ช่องเลยนะครับ เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จแล้วให้กดปุ่ม Next โปรแกรมจะลิงค์ไปที่หน้าสุดท้ายให้เรากด OK Lets Go! เพื่อเริ่มใช้งาน


        เสร็จเรียบร้อยครับ สำหรับวิธีการลงทะเบียนเข้าใช้งานโปรแกรม Scratch ซึ่งในส่วนของการเริ่มใช้งานผู้เขียนจะขอกล่าวถึงในบทถัดไปนะครับ
        ตอนนี้เราก็พอรู้จักกับ Scratch โปรแกรมกันแล้วในตอนต่อไปเราจะมาเรียนรู้การสร้างตัวละครในเกม และการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของตัวละคร โดยเนื้อหาในตอนต่อไปผู้เขียนจะพยามสอดแทรกเนื้อหาและหลักการเขียนโปรแกรมลงไปในบทความด้วย เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันนะครับ ติดตามต่อได้ใน ตอนที่ 2 ครับ

แหล่งอ้างอิง
https://scratch.mit.edu/help/videos/
https://scratch.mit.edu/explore/projects/tutorials/

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook: รักการเขียนโค้ด ดอทคอม 
Tell: 091-4782789

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำ Web server เพื่อรับข้อมูลจาก Sensor และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ตอนที่ 2 ส่งข้อมูลจากบอร์ด NodeMCU ขึ้น Web Server

การควบคุมมอเตอร์ Brushless ด้วย Arduino

เรียนรู้การออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน และใช้งานบอร์ด Arduino ตอนที่ 1 ทำความรู้จักกับโปรแกรม Tinkercad Circuits